เลือนหายแต่ไม่ตายจาก : การแสดงมะโย่งสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เร่งรอการสืบสาน

หน้าแรก ย้อนกลับ เลือนหายแต่ไม่ตายจาก : การแสดงมะโย่งสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เร่งรอการสืบสาน

เลือนหายแต่ไม่ตายจาก : การแสดงมะโย่งสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เร่งรอการสืบสาน

เลือนหายแต่ไม่ตายจาก : การแสดงมะโย่งสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เร่งรอการสืบสาน

สุธีรา บุญธรรม1

          บทขับร้องภาษามลายูถิ่นและเสียงรือบับก้องกังวานอยู่ในพื้นที่คาบสมุทรมลายูมานานกว่า 400 ปี
หากเสียงที่ว่ากลับเบาลงเมื่อความเจริญเดินทางไปถึงยังพื้นที่แถบนั้น สีสันจากเครื่องแต่งกายและท่วงท่าร่ายรำ
อันสะดุดตากำลังเลือนหายไปในความมืด เช่นเดียวกับความหวังอันริบหรี่ที่ลูกหลานชายแดนใต้จะหันกลับมา
สืบสาน “มะโย่ง” การแสดงโบราณที่อยู่คู่กับราชสำนักปัตตานีและคาบสมุทรมลายูกำลังเลือนหายไปจาก
ความทรงจำของชาวใต้จริงหรือ?

          มะโย่งในวันวาน ณ คาบสมุทรมลายู

การแสดงมะโย่ง ของชาวอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

ที่มา https://archive.clib.psu.ac.th/online-exhibition/mak%20yong/mayong2.html

          ‘คาบสมุทรมลายู’ พื้นที่แห่งความเชื่อฮินดู-ชวาที่แพร่หลายในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทางตอนเหนือของมาเลเซีย และอินโดนีเซียบางพื้นที่ หล่อหลอมให้การแสดง “มะโย่ง” เป็นการแสดงที่ผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ พิธีกรรม และดนตรีเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีมนต์ขลัง โดยมะโย่งมีที่มาหลากหลายและไม่แน่ชัด ตามที่สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 12 (2542, หน้า 5934-5935) กล่าวถึงที่มาของการแสดงมะโย่งเอาไว้ว่า การแสดงมะโย่งมีที่มาไม่แน่ชัด บ้างเชื่อว่ามะโย่งถือกำเนิดจากการบูชาขวัญข้าว หรือเชื่อว่ามะโย่งกำเนิดมาจากหมู่เกาะชวา ทว่ามีเพียงบทขับร้องภาษามลายูถิ่นปัตตานีเท่านั้นที่เป็นหลักฐานสำคัญให้นักวิชาการมาเลเซียลงความเห็นว่า
มะโย่งถือกำเนิดในอาณาจักรปัตตานี โดยสอดคล้องกับที่นายสมาน โดซอมิ (2567, สัมภาษณ์) ประธานศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็งให้สัมภาษณ์เอาไว้เช่นกันว่า มะโย่งถือกำเนิดในสมัยอาณาจักรปัตตานีและรุ่งเรืองอย่างมากเมื่อ 400 ปีก่อน โดยมีรากเหง้าเดียวกับการแสดงมโนราห์ หรือละครชาตรีซึ่งในช่วงหนึ่งนิยมแสดงในราชสำนักด้วย

      

นักแสดงปะโย่ง หรือตัวพระ (กลาง) และมะโย่ง หรือตัวนาง (ซ้ายและขวา)

          อาจารย์สมาน โดซอมิให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า วัฒนธรรมฮินดูและชวามีอิทธิพลต่อการแสดงมะโย่งในทุกมิติ อาทิ เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี รวมถึงพิธีกรรมความเชื่อ โดยมะโย่งนิยมแสดงเพื่อความบันเทิงและการแก้บน
ซึ่งมีเรื่องราวจากนิทานและละครจักรๆ วงศ์ๆ ผ่านตัวละครสำคัญ อันได้แก่ ปะโย่ง (ตัวพระ) มะโย่ง (ตัวนาง) ตัวพือแร (ตัวตลก) และดายัง-ดายัง (ข้ารับใช้) ตัวแสดงนิยมสวมเครื่องแต่งกายสีสันสดใสและมีเครื่องประดับหรูหรา
โดยมี ‘รือบับ’ เครื่องดนตรีอันเป็นหัวใจสำคัญของการแสดงมะโย่งเล่นคลอไปตลอดการแสดงด้วย นอกจากนี้ยังมี กลองแขก โหม่งคู่ ฆ้องชวา และปี่ชวา ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากความเชื่อในวัฒนธรรมฮินดูและชวาแทรกแซมอยู่ทั้งสิ้น ตามที่ ภิญโญ เวชโช (2557, หน้า 25) กล่าวถึงความความเชื่อของวัฒนธรรมฮินดู-ชวาในการแสดงมะโย่งเอาไว้ว่า เครื่องแต่งกายของตัวปะโย่งมีกริชชวาซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของพระศิวะ และมีความเชื่อในเรื่อง ‘กูนุง’ หรือเขาพระสุเมรุในเครื่องดนตรีรือบับ ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูทั้งสิ้น

      

ภาพ ซอรือบับและปี่ชวา

      

ภาพ กลองมลายู ฆ้อง และโหม่งคู่

ภาพ จือเระ (ซ้าย) ฉาบ (บนขวา) และฉิ่ง (ล่างขวา)

          ทว่าในช่วงศตวรรษที่ 19 การเข้ามาของศาสนาอิสลามถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผู้คนในพื้นที่โดยศาสนาอิสลามเข้ามาเปลี่ยนแปลงผู้คนในทุก ๆ ด้าน อาทิ วิถีชีวิต วัฒนธรรม การดำรงชีวิต รวมถึงความเชื่อทางศาสนาที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลทำให้การแสดงมะโย่งเสื่อมความนิยมลงเนื่องจากขัดต่อหลักศาสนาตามที่ นูรียัน สาแล๊ะ (2540, น. 95-120) กล่าวถึงปัจจัยต่อการสูญหายของมะโย่งในปัจจุบันเอาไว้ว่า ปัจจัยการสูญหายของการแสดงมะโย่งมีหลายปัจจัย และการเข้ามาของศาสนาอิสลามคือปัจจัยสำคัญ ทว่าศาสนาอิสลามไม่ได้ห้ามให้มนุษย์สร้างวัฒนธรรมหรือความสุขสำราญ แต่จำต้องอยู่ภายใต้กรอบความเชื่อของศาสนา ซึ่งการแสดงมะโย่งขัดหลักการของศาสนาอิสลามอยู่ 4 ประการ อันได้แก่ 1) การใช้คาถาที่เกี่ยวข้องกับผี วิญญาณ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2) การใช้เครื่องเซ่นคาวหวานในพิธีเบิกโรง 3) ความเชื่อที่มีต่อเครื่องดนตรี ซึ่งเชื่อว่ามีการสิงสู่ของวิญญาณ และ 4) เรื่องราวหรือนิทานประโลมโลกซึ่งเป็นสิ่งเพ้อฝัน สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ความมุ่งมั่นของนักวิชาการและนักแสดงมะโย่งที่ยอมปรับเปลี่ยนการแสดงเพื่อให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นที่น่าพอใจนัก

 

          มะโย่งไทย-มาเลย์ฯ การแสดงที่ไร้พรหมแดน

    

ละครและระบำมะโย่งที่รัฐปีนัง ประมาณ ค.ศ. 1903

ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B0
%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%87

          ย้อนกลับไปในสมัยที่พื้นที่คาบสมุทรมลายูกินอาณาเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ผู้คนยังมีอิสระในด้านการไปมาหาสู่ทำให้วัฒนธรรมต่าง ๆ ถ่ายเทและผสมผสานจนเรียกได้ว่าเป็น ‘วัฒนธรรมไร้พรหมแดน’ ทำให้การแสดงมะโย่งเผยแพร่ไปสู่ประเทศมาเลเซียเช่นกัน ตามที่
นายสมาน โดซอมิ (2567, สัมภาษณ์) ได้กล่าวถึงการแสดงมะโย่งไทยและมาเลเซียว่า นักแสดงมะโย่งของไทยได้ไปพำนักและถ่ายทอดศิลปะการแสดงมะโย่งสู่สายตาชาวมาเลเซียจนเฟื่องฟู หากฝั่งใดมีการแสดงก็จะมีการถ่ายเทนักแสดงไปร่วมด้วยช่วยเหลือกันมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี พ.ศ.2544 องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้มะโย่งของมาเลเซียเป็น “ผลงานชิ้นเอกด้านมุขปาฐะ และมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพของมนุษยชาติ” ทว่าทางการมาเลเซียยังคงให้เกียรติและคำนึงถึงต้นกำเนิดของการแสดงมะโย่งอยู่เสมอ รวมไปถึงยังคงฟื้นฟูและอนุรักษ์มะโย่งควบคู่ไปกับฝั่งของไทยเช่นกัน หากสิ่งที่การแสดงมะโย่งในมาเลเซียประสบไม่ต่างจากไทยคือการขัดต่อหลักศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซีย

         

          ฟื้นฟูและอนุรักษ์ ทางเลือกที่ภาครัฐต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วน

การสัมภาษณ์อาจารย์สมาน โดซอมิ รศ.ดร.เรวดี อึ้งโพธิ์ และนักแสดงมะโย่ง วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

ณ ห้องดนตรีไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

          เมื่อหันกลับมามองการฟื้นฟูและอนุรักษ์ของไทย การแสดงมะโย่งถือเป็นการแสดงที่ต้องเร่งฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน และจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐให้ร่วมกันแก้ไข ตามที่ รศ.ดร.เรวดี อึ้งโพธิ์และนายสมานโดซอมิ (2567, สัมภาษณ์) ได้ให้สัมภาษณ์แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นการอนุรักษ์การแสดงมะโย่งเอาไว้ว่าในปัจจุบันการแสดงมะโย่งปรับลดพิธีกรรมซึ่งอาจขัดต่อหลักศาสนาไปมาก มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแสดงเพื่อให้เข้ากับความนิยมในปัจจุบัน รวมทั้งติดต่อสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อนำการแสดงมะโย่งเข้าสู่หลักสูตรการศึกษาให้มากขึ้น ทว่าความพยายามของคนหนึ่งคนไม่อาจนำการแสดงมะโย่งหวนคืนสู่สายตาชาวใต้ได้อย่างเข้มแข็งหากจำเป็นต้องให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมต่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ในระดับนโยบายเชิงรุกด้วย ซึ่งนอกจากนโยบายจากฝั่งภาครัฐแล้ว ‘การปลูกฝัง’ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ตระหนักถึงความล้ำค่าของการแสดงมะโย่ง ซึ่งไม่อาจสอนในสถานศึกษาได้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์อาจไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของผู้สืบสานการแสดงมะโย่งหรือนักแสดงที่ยังคงมีลมหายใจ หากจำเป็นต้องให้ชาวใต้ทุกคนมีส่วนร่วมในการนำการแสดง
มะโย่งกลับมาเป็นที่รู้จักต่อสายตาคนในประเทศอีกครั้งด้วย

          แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นแม้กระทั่งความเชื่อของเรา หากผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนามะโย่งให้กลับมารุ่งเรืองเช่นอดีตได้ ตราบใดที่ลูกหลานปักษ์ใต้และรัฐบาลยังคงเล็งเห็นความสำคัญของการแสดงชุดนี้ “มะโย่ง” จะยังคงปรับตัว เปลี่ยนแปลง และกลับมาสร้างชื่อเสียงให้ตนเองได้อีกครั้งหนึ่ง

          1นักศึกษาฝึกปฏิบัติสหกิจ ประจำศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง คณะศิลปศาสตร์ ม.อ.

นูรียัน สาแล๊ะ. มะโย่ง. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 12. (2542). หน้า 5934-5935.

           . มะโย่ง : ความพยายามที่ลางเลือนในการสืบสานวัฒนธรรมให้คงอยู่. ทีทรรศน์วัฒนธรรม รวมบทความทางวิชาการวัฒนธรรมศึกษา. (2540), หน้า 95-120

ภิญโญ เวชโช. (2557). รายงานการวิจัย เรื่อง มะโย่ง : นาฏละครมลายู. ยะลา: มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

อัลดุลเลาะ มะหะมะ. (2557). ยะลอ ยะลา สายใยชุมชนสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น. ปัตตานี: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

แชร์ 247 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้